TOPIC
ทุกอย่างที่เกี่ยวกับกาแฟ เหมือนเป็นสิ่งที่หล่อเลี้ยงครอบครัวเรา
โดย : ผู้ดูแลระบบสันติพานิช
30.04.2024
ในแววตาของพี่พิมเต็มเปี่ยมไปด้วยความสุข ความสนุก และความตื่นเต้นทุกครั้ง ที่พูดถึงต้นกาแฟและแม่บู่หยาพี่พิม เจ้าของไร่กาแฟแม่บู่หยา เกษตรกรคนไทยที่ให้ความสำคัญกับกาแฟเป็นอย่างมาก
เรื่องราวของพี่พิม อาจจะดูเหมือนชีวิตของเกษตรกรธรรมดาคนนึง แต่พี่พิมผ่านมาแล้วทุกความรู้สึก ก่อนจะมีทุกวันนี้ พี่พิมทั้งรู้สึกท้อใจ ทั้งเป็นหนี้จนเกือบจะล้มเลิกการปลูกกาแฟมาแล้ว แต่เหมือนพรหมลิขิต ที่พลิกกลับมา กลายเป็นเจ้าของไร่แม่บู่หยาที่คนวงการกาแฟแทบไม่มีใครไม่รู้จักกาแฟแม่บู่หยา
:
ในปัจจุบัน
พี่พิมบอกว่า เวลาที่มีใครมาเที่ยวไร่ พี่ก็จะเล่าประวัติ และเรื่องราวนี้ให้ทุกคนฟัง และไม่เคยเบื่อที่จะเล่าด้วยนะเพราะมันเป็นอะไรที่ไร่แม่บู่หยาภูมิใจมากเลยที่ได้เจอ5โรงคั่ว ทั้งเป็นลูกค้าที่ไม่เหมือนพ่อค้าเลย ตอนนี้พี่อยู่แบบสบายใจ มีความสุข ความเป็นอยู่ก็ดีขึ้น ที่ดีใจที่สุดคือ เวลาเจอปัญหา ไม่มีใครทิ้งเลย อยู่ด้วยกันช่วยกันแก้ปัญหา เวลาที่เรามีปัญหา เจอเชอร์รี่ที่ไม่ดี ก็ไม่กดราคา ไม่เคยมาขอลดราคาเลย มีแต่มาช่วยกันค้นหาปัญหา แล้วแก้ไปด้วยกัน
แต่ก่อนจะมาเจอ 5 โรงคั่ว พี่พิมเจออะไรมาบ้าง…วันนี้เราไปรู้จักพี่พิมกัน … นรินทิพย์ เยส่อกู่พี่พิม เป็นผู้หญิงที่รักครอบครัวมากๆ แม่บู่หยา คือชื่อของคุณแม่พี่พิม ที่มีไร่กาแฟมาตั้งแต่แรกเริ่ม เป็นเหมือนมรดกที่ส่งต่อๆ กันมา จนมาถึงพี่พิมและพี่หวิน (น้องชายของพี่พิม)
พี่พิมเล่าว่า…ก่อนที่พี่พิมจะเริ่มมาปลูกไร่กาแฟ พี่พิมไปทำงานที่เกาหลี จนพบกับพี่ยาว ก็ได้ตกหลุมรักกัน จนกระทั่งมีลูกก็ได้กลับมาเมืองไทย ตั้งแต่ปี 53 มาตัดสินใจทำไร่กาแฟ พี่พิมลงทุนทำไร่กาแฟ
แบบเน้นลงทุน ทำไปโดยไม่มีความรู้อะไรเลย ช่วง3ปีแรก เป็นการลงทุนโดยที่ยังไม่ให้ผลผลิต เนื่องจากปกติแล้วกาแฟจะเริ่มออกผลผลิตตอนอายุ3ขวบ แต่พอผลที่ออกมาในล็อตแรกเชอร์รี่กาแฟออกมาน้อยมาก ไม่พอที่จะเลี้ยงชีพได้ พี่ยาวเลยจะตัดสินใจกลับไปทำงานต่างประเทศอีกครั้ง โดยครั้งนี้พี่พิมต้องเลี้ยงลูกที่ไทยและทำไร่กาแฟต่อ ส่วนพี่ยาวตัดสินใจไปญี่ปุ่น แต่สุดท้ายก็ต้องผิดหวังเพราะว่าไม่มีงานให้ทำ ไม่มีใครจ้างงานก็เลยต้องกลับมาไทยอีกครั้ง
แต่แล้วก็ประสบปัญหาเดิมๆซ้ำๆ คือรายได้ก็ยังไม่พอเลี้ยงชีพและครอบครัวอยู่ดี เนื่องจากตอนนั้น เชอร์รี่ราคายังไม่ดีแบบทุกวันนี้ พ่อค้าที่มาซื้อก็กดราคา รวมถึงผลผลิตก็น้อย กลายเป็นต้องติดหนี้เพิ่มไปอีก
จนกระทั่ง ย้อนไปเมื่อ 7 ปีก่อน สุดท้ายพี่ยาวก็ยังไม่ล้มเลิกความคิดที่จะไปสมัครงานที่ต่างประเทศอีกครั้ง เนื่องจากต้องการรายได้ที่พอเลี้ยงครอบครัว แต่เรื่องบังเอิญเหมือนโชคชะตาหรือพรหมลิขิตอะไรก็ไม่รู้ เพื่อนพี่ยาวชื่อว่าพี่พัท ซึ่งยื่นมือเข้ามาช่วย ก็ได้แนะนำกาแฟไร่แม่บู่หยาให้กับพี่กิต Cozy Factory (Link พี่กิต) พี่พิมส่งกาแฟไปให้พี่กิต 3 กิโล ประจวบเหมาะที่พี่กิตต้องการกาแฟไทยพอดี เนื่องจากกาแฟไทยในช่วงเวลานั้น ไม่ได้มีเยอะ ไม่ได้หาง่ายแบบในปัจจุบัน
พี่พิมบอกว่าตอนนั้นพี่ก็ไม่ได้เคยคิดว่า เขาจะมาใช้กาแฟเรานะ ไม่เคยมีความหวัง พี่ส่งแบบรวมๆ ไปเลย กาแฟตอนนั้นยังเป็นต้นน้อยด้วย ยังไม่มั่นใจว่ากาแฟเราจะดี ไม่ได้คัดกาแฟส่งไปด้วย เพราะเตรียมถอดใจและคิดว่าว่า ถ้าได้ก็คงดี แต่ถ้าไม่ได้ก็ไม่เอาแล้ว เพราะกู้ยืมสินมาลงเยอะมากๆ ไปหาเงินมาลงเรื่อยๆ ความเป็นอยู่ไม่ดีขึ้น จะไม่ทำกาแฟแล้วกลับไปทำงานต่างประเทศดีกว่า ทำงานคนเดียที่นั่นก็เลี้ยงครอบครัวได้
แต่แล้วหมือนโชคชะตาฟ้าลิขิต พี่กิตก็โทรกลับมาบอกว่า ”กาแฟมีเท่าไหร่ เอามาให้หมดเลย” (ซื้อๆๆ ไม่ใช่ปล้น555) ตอนนั้น พี่พิมก็บอกราคาไปเผื่อให้ต่อราคากลับมา แต่พี่กิตกลับมาบวกราคาให้พี่อีก (งู้ยยย…) พี่พิมบอกว่าตอนนั้นเหมือนถูกหวย พี่พิมก็ยังงงว่านี่มีลูกค้าแบบนี้ด้วยหรอ
หลังจากนั้นก็ได้ทำต่อมาเรื่อยๆ จนเข้าสู่ปีที่ 2 อีก 4 โรงคั่ว (Maled, Nap, Rosetta, Santipanich) ก็เข้ามาสมทบด้วย พี่ก็ทำงานมากขึ้น เหนื่อยนะคะแต่พี่ก็สู้ พี่ยาวก็ขยันมากกก ในปีแรก พี่ขายกาแฟได้ 2 ตัน แล้วพี่ก็เริ่ม ไปดาวน์รถไถ พัฒนา เรียนรู้ ปีต่อมาก็3ตัน พี่บอลเสริมว่า
ตอนนั้น 5 โรงคั่ว ก็ยังไม่สามารถใช้กาแฟที่รับมาจากพี่พิมมาใช้จนหมด แต่ก็ช่วยส่งสารกาแฟ ให้กับโรงคั่วอื่นๆด้วย เนื่องจากพวกพี่ยังไม่ได้ขายเมล็ดกาแฟเยอะเท่าทุกวันนี้ แล้วปีต่อมาก็พุ่งไปเป็น 10ตัน 30ตัน 50 จนโดดมา 80 ตัน แต่ก็ยังไม่พอ (สุดยอดไปเลย)
:
มาพูดถึงเรื่องกาแฟกันบ้าง
ตอนนี้ที่ไร่มีสายพันธุ์ Bourbon, typica, Catimor และล่าสุดก็มีปลูก Java กับ Geisha ที่เพิ่งมาลงใหม่ กำลังรอผลผลิตอยู่ ยังเป็นเด็กน้อยรอการเจริญเติบโต (link ไปอ่านเรื่องราวของ Java Geisha)
เรื่องผลผลิตพี่พิมบอกว่า บางปีไม่เพียงพอต่อความต้องการ เช่น ถ้าปีนี้เก็บผลผลิตไปแล้ว ต้นกาแฟต้องพักฟื้น 1ปี ปีถัดไปถึงจะกลับมาให้ผลผลิตเยอะ จริงๆแล้ว เราคาดการณ์ได้จากต้นกาแฟได้เลย กิ่ง ก้าน ดอก…แต่สุดท้ายแล้วกาแฟก็ยังไม่เพียงพอ เพราะกาแฟถูกใช้มากขึ้นทุกปีเลย
ตัวแปรที่ส่งผลต่อผลผลิตกาแฟ ก็จะเป็นพวก สภาพอากาศ ฝนเยอะ ถ้ามาช่วงมีดอก ก็ทำให้ดอกร่วง กาแฟก็ไม่ติดหรือ ถ้ากาแฟติดผลแล้ว ฝนตก ก็ทำให้ผลกาแฟเชอร์รี่แตกและเสียหาย
การเก็บกาแฟเชอร์รี่จะแบ่งเป็น 3ช่วง คือ ต้นฤดู กลางฤดูและปลายฤดู เริ่มจากต้นฤดูจะเป็นช่วงปลายตุลาถึงต้นพฤศจิกาก็เริ่มเก็บเกี่ยวแล้ว ผลกาแฟเชอร์รี่จะออกเยอะเป็นช่วงปลายธันวา ส่วนมกรา กุมภาช่วงนี้เป็นช่วงกลางฤดู ผลกาแฟจะมีคุณภาพที่ดี เหมือนมันอิ่มเต็มที่
กาแฟจะออกจากกิ่งก้านที่แตกใหม่ สมมุติตัดปีนี้ กิ่งก้านที่ออกใหม่ ก็จะออกผลผลิตไม่ทัน ส่วนกิ่งไหนที่ให้ผลผลิตไปแล้ว จะไม่ให้อีกแล้ว พี่พิมมีโอกาสได้เรียน Q Processing กับครูไบรซ์ บอกว่า กิ่งกาแฟที่ให้ผลผลิตไปแล้ว ไม่สามารถให้ผลผลิตได้อีกต้องตัดให้แตกกิ่งใหม่ ถึงจะให้ผลผลิตเราได้ ความรู้อะไรแบบนี้ เมื่อก่อนเราไม่รู้เลย เพิ่งได้มาตอนที่มีโอกาสได้เรียน Process ที่ทำ ตอนนี้เรามี 5 Process คือ Washed, Honey, Dry, Carbonic Macrationและ Yeast ซึ่งYeast Process เราทำกันเป็นปีที่ 4 แล้ว
:
เปิดใจ ยอมรับ เรียนรู้ และพัฒนา
ก่อนจะมีทีมแม่บู่หยา พี่พิมดูแลต้นไม้แบบ ปลูกไม่มีความรู้ ปลุกไปเรื่อยๆ ไม่รู้ถึงความสำคัญของน้ำ ต้นไม้ ผลผลิตที่ออกมาก็ยังไม่ได้มากเท่าไหร่
เมื่อก่อนที่ไร่แม่บู่หยายังไม่มีไฟฟ้าต้องปั่นน้ำมันเพื่อใช้ไฟ น้ำมันหมดก็ไฟดับ เรายังไม่มีลานตากบนดอยนี้เลย เรายังไม่สามารถทำ Process กันบนดอยได้ โดยเฉพาะโพรเสส Dry เนื่องจากอากาศบนดอย ความชื้นสูง พี่ๆ เขาก็ต้องขนเชอร์รี่ขึ้นลงดอย ขนกันวนไปซึ่งมันสูญเสียทั้งเวลาและทรัพยากร
ดังนั้น 5 โรงคั่ว คิดถึงการสร้างห้องตากกาแฟ พวกพี่ๆ 5 โรงคั่วก็ซัพพอร์ตชั้นตากกาแฟ อุปกรณ์ เครื่องดูดความชื้น รวมถึงให้ความรู้ด้านการเกลี่ย การตากกาแฟ ความชื้นกาแฟ ห้องLTLH จึงเกิดขึ้น
นอกจากนี้ยังมีความรู้ของการปลูกกาแฟด้วยนะ สอนพี่พิมให้ปลูกต้นไม้เสริมเข้าไป เพื่อให้ร่มไม้ในสวนกาแฟ อย่างถ้าเวลาหนาวจัด จะช่วยได้ทุกฤดูเลย เช่น ถ้าฤดูหนาวจัด แม่คะนิ้งมา ก็จะช่วยคุ้มกันต้นกาแฟ หรือฝนเยอะๆ ก็จะช่วยทั้งดิน ทั้งบังน้ำฝนที่ตกมาแรงๆ แต่ต้องไม่ใช่ไม้ผลนะ อย่างเช่น ต้นกล้วย กล้วยป่า เป็นต้น กล้วยเป็นเหมือนไม้พี่เลียง สิ่งที่กล้วยให้ผลออกมา ไม่ได้มีรสเปรี้ยวรสหวาน เฝื่อนฝาด ไม่ได้ดึงสารอาหารจากต้นกาแฟ มันสะสมความชื้น ช่วยเอื้อความชุ่มชื้นให้ต้นกาแฟได้ด้วย ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเป็นลิ้นจี่มาปลูก ลิ้นจี่จะให้รสหวาน มันจะแย่งสารอาหารจากต้นกาแฟ รสชาติกาแฟอาจจะจืดลง เพราะใช้สารอาหารเดียวกัน
พี่พิมบอกว่า ทุกอย่างที่เกี่ยวกับกาแฟ เหมือนเป็นสิ่งที่หล่อเลี้ยงครอบครัวเรา เราไม่ควรเพิกเฉย ถ้าเราได้รับความรู้ ได้เรียนรู้ ได้พัฒนา ไม่ว่าจะมากน้อยแค่ไหน มันคือสิ่งที่หล่อเลี้ยงชีวิต เราก็อยากรู้ อยากพัฒนาไปด้วยกัน ทุกวันนี้มีความสุขมาก พี่ดีใจที่เราได้เจอทุกคน
สุดท้ายแล้ว…หากใครกำลังมองหาประสบการณ์การพักผ่อนที่แท้จริงในอ้อมกอดของธรรมชาติ
ไร่แม่บู่หยาเป็นทางเลือกที่ไม่ควรพลาด! ปัจจุบันพี่พิมได้พัฒนาไร่ให้กลายเป็นรีสอร์ทที่อบอุ่นและน่าอยู่ พร้อมห้องพักที่มีความสบาย น่าอยู่มาก เปิดรับบรรยากาศแสนสดชื่นได้อย่างเต็มที่ ไม่ว่าจะเป็นอากาศที่เย็นสบายตลอดทั้งปี เดินชมดอกกาแฟในช่วงเมษาหรือชมผลกาแฟเชอร์รี่ในช่วงปลายปี ที่นี่มีเสน่ห์ที่เปลี่ยนไปตามฤดูกาล และไม่เพียงแค่นั้น รีสอร์ทยังมีอาหารพื้นเมืองที่หาชิมไม่ได้ง่ายๆ ในเมืองใหญ่
รอต้อนรับที่อบอุ่นจากพี่พิมและทีมงาน ที่พร้อมมอบประสบการณ์ที่ลืมไม่ลง คุณจะได้พบกับการผสมผสานของความสะดวกสบายและธรรมชาติที่ลงตัว สัมผัสบรรยากาศอันแสนพิเศษที่ไร่แม่บู่หยาและสร้างความทรงจำที่ไม่มีวันลืมได้ที่นี่ได้เลยจ้าา
:
ปลายปีนี้ สันติพาณิชย์ อาจจะจัดทริปไปเที่ยวกันอีก ติดตามเพจของเราไว้ เพื่อเตรียมขึ้นดอยกับพวกเราได้เลยน้า
เขียนโดย Sanannas Poomiprathate ( Santipanich )
ช่างภาพ,เรียบเรียงภาพ Waruncharat Laaiadsin ( Santipanich )