TOPIC
เฝ้าคอยการเติบโต Java และ Geisha บนดอยปางขอน จ.เชียงราย
โดย : ผู้ดูแลระบบสันติพานิช
09.03.2024
Coffee Story EP.3 : เฝ้าคอยการเติบโต Java และ Geisha บนดอยปางขอน จ.เชียงราย วันที่3 เราชื่นใจขึ้นมา เนื่องจากเมื่อลืมตาตื่น เราก็ได้รับแสงแดดอุ่นๆ และรู้สึกขึ้นได้ว่า “วันนี้อากาศดีจัง”
วันนี้ เราต้องตากกาแฟ Yeast ที่เราหมักไว้วันแรก ระหว่างรอกาแฟ พี่กิตก็จะพาไปดูไร่ของพี่หวิน ซึ่งเป็นน้องของพี่พิม(ไร่แม่บู่หยา) ทีมแม่บู่หยานำกาแฟสายพันธุ์ Java และ Geisha ไปลงปลูกไว้ในไร่ของพี่หวิน ทุกคนต้องอดทนรอกันอีกสัก 2-3 ปีน้าาา กว่าจะได้ชิมรสชาติกัน
พื้นที่ไร่กาแฟของพี่หวินตั้งอยู่บนดอยปางขอน ความสูงประมาณ 1,500 ฟุต จากระดับน้ำทะเล ซึ่งถือได้ว่า แทบจะสูงที่สุดบนดอยนี้แล้ว และแน่นอนว่าหนทางไปทุลักทุเลไม่ใช่น้อย แต่เต็มไปด้วยความสดชื่นแบบที่สุด
รอบนี้เราได้ปลูกต้นกาแฟสายพันธุ์ java จำนวนกว่า 2,500 ต้น ที่เลือกสายพันธุ์นี้ เพราะว่า Java เป็นตัวเลือกสายพันธุ์กาแฟที่ดีตัวนึง ดูแลไม่ยากมากแถมรสชาติเป็นเลิศอีกด้วย
วันนี้เราจะมาว่าด้วยเรื่องของสายพันธุ์ Java หลายคนคงเคยได้ยินกาแฟสายพันธุ์ Java กันมาแล้ว กาแฟจาวา จริงๆแล้วจาวาไม่ได้มาจากอินโดนีเซียนะ แต่มาจากเอธิโอเปียเมื่อสมัยศตวรรษที่19 โดยชาวดัตช์เอาเข้ามาที่ อินโดนีเซีย เดิมทีคิดว่าคือTypica Selection จนต่อมาช่วงศตวรรษที่20 เกษตรกรท้องถิ่นได้นำเข้ามาที่ Cameroon (ในแอฟริกากลาง) ผ่านบริษัท Vilmorin (ไม่ต้องจำหรอก) ซึ่งได้รับเมล็ดJava มาจาก Porteres เป็นนักพัฒนาสายพันธุ์กาแฟที่โด่งดังท่านนึง ทีนี้ พอJavaเข้ามาที่ Cameroonแล้ว คุณPierre Bouharmont เป็น Breeder ท่านนึง
Breeder ก็สังเกตุว่า เห้ยยยย Java มันเฟี้ยวหว่ะ มันอึด ทนต่อโรคได้หรือที่เรียกว่า coffee berry disease (CBD) เพราะว่าปัญหานี้เป็นเหมือนปัญหาที่เกิดขึ้นแพร่หลายในกาแฟแอฟริกา แถมปรับตัวได้ดีอีกด้วย
หลังจากนั้นเกือบ20ปี กับการคัดเลือกกาแฟ ก็ได้ถูกปล่อยให้เพาะปลูกที่Cameroon ในปี 1980-90 อย่างไรก็ตาม DNA ของJava ถูกคัดเลือกมาจากสายพันธุ์ที่มาจากเอธิโอเปีย ที่มีชื่อว่า Abysinia
ต่อมาในปี 1991 Costa Rica ก็ได้นำเข้าไปปลูก โดย The Centre de Coopération Internationale en Recherche Agronomique pour le Développement (CIRAD) จากนักเพาะพันธุ์ชื่อ Benoit Bertrand โดยหลักก็คือ ดูแลง่าย ผลผลิตดี
ในปี 2016 JAVA ก็ถูกเปิดตัวอย่างเป็นทางการโดย Panama ซึ่งเป็นประเทศแรกในอเมริกากลางเลย
ในส่วนคาแรกเตอร์ของ JAVA มีความนุ่ม ละมุน คลีน บาลานซ์ดี มีรสชาติ เปรี้ยวหวาน จาวาถือว่าเป็นกาแฟที่น่าสนใจและเป็นตัวเลือกที่ดีจาก Geisha
ที่ไร่กาแฟแม่บู่หยา พี่หวินบอกว่า ปีหน้าดอกกาแฟของJava น่าจะออกมาให้เห็นแล้ว และคงจะออกผลล็อตแรกให้เราในอีกไม่นาน อดใจรอกันได้เลย…
พอเราเดินดูเบบี๋JAVAเสร็จ เราก็ไปต่อกันที่ด.ญ.Geisha กัน พี่หวินบอกว่าอายุของน้องๆ 1ขวบเท่านั้น แต่สายพันธุ์ของ Geisha จะโตช้ากว่าน้องJAVA การดูแลเบื้องต้น ยังดูแลไม่ต่างกัน รดน้ำ ดูแล ใส่ปุ๋ย และต้องถางหญ้าหรือกำจัดวัชพืชออก
พี่พิมเสริมว่า รอช่วงหน้าฝน เด็กๆGeishaจะโตไวขึ้น เพราะน้ำถึงสารอาหารถึง แต่น้องมาช่วงปลายฝนแล้ว เลยจะโตช้านิดนุง เราก็ปล่อยให้อยู่กับหญ้าไปก่อนระยะนึงเนื่องจากแดดจะแรง ช่วยคลุมดินเวลาแดดแรงๆ แต่ถ้าฤดูฝน จะปล่อยหญ้าเยอะๆไม่ได้ เพราะหญ้าและวัชพืชก็จะโตไวและแย่งสารอาหารไปเช่นกัน
แต่ในบางประเทศ จะมีการปลูกวัชพืชเพื่อคลุมดินและความชื้น เนื่องจากอากาศของที่นั่นแห้ง แต่ทั้งนี้ ก็ต้องเลือกพืชคลุมดินที่ไม่แย่งอาหารต้นกาแฟที่จะมาปลูก จะได้ไม่ส่งผลต่อต้นกาแฟของเรา อ่ะ กลับมาที่ไร่กัน
จากภาพ หลายคนอาจจะสงสัยว่า ทำไมเราต้องปักไม้ เอาไว้ที่ต้นกาแฟด้วย ง่ายๆเลยคือ เพื่อที่เราจะได้สังเกตุว่า เนี่ยคือต้นกาแฟนะ ห้ามตัด ห้ามทับนะเว้ยยยย เพราะน้องยังเล็ก โอกาสโดนทำร้ายง่าย
ทีนี้ เรามาลงรายละเอียดกับน้องGeishaบ้าง บรรพบุรุษของเกอิชาถูกเก็บมาจากเอธิโอเปีย เมื่อทศวรรษที่ 1930 (โคตรนานเลยเนอะ….) แต่ถึงแม้เกอิชาจะมีความทนทานต่อโรคสนิมใบ แต่กิ่งก้านและความอึดของเกอิชาสู้จาวาไม่ได้ ก็เลยยังปลูกกันไม่ค่อยแพร่หลายในสมัยนั้น จนกระทั่งปี2005 ครอบครัว Peterson ในเมือง Boquete ประเทศปานามา เข้าสู่การแข่งขันและการประมูล “Best of Panamá” ได้รับคะแนนสูงเป็นพิเศษและทำลายสถิติราคาประมูลกาแฟสีเขียวในขณะนั้น โดยขายได้ในราคามากกว่า 20 เหรียญสหรัฐฯ/ปอนด์ ซึ่งสูงมากๆ หลังจากนั้นกาแฟเกอิชาก็ถูกดีดตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
คาแร็กเตอร์ของกาแฟGeisha เป็นที่ขึ้นชื่อกันว่า มีกลิ่นหอมหวานของดอกไม้ ดอกมะลิ ลูกพีช ใครที่เคยได้ชิมก็คงจะปฏิเสธไม่ได้ว่า เกอิชาอร่อยจริ๊งงงง
และเมื่อตอนนี้ เราได้น้องเกอิชามาครอบครอง เราต้องอบรมบ่มนิสัยน้องด้วยการดูแล น้ำ ดิน ปุ๋ย ศึกษาและเข้าใจ เพื่อให้น้องได้เติบโตไปเป็นผู้ใหญ่ที่ดีในวันหน้า ออกลูกออกหลานให้เราได้ชิมกัน แทบจะอดใจรอไม่ไหวแล้ว พี่หวินกับพี่พิมบอกว่า ภายใน3-4ปีนี้ เราจะได้ชิมเกอิชาแห่งแม่บู่หยาของดอยปางขอนกันอย่างแน่นอน